การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน
- การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และหนังสือให้ความยินยอมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
- แบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ (สัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าครองชีพ)
1.การทำสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพให้ผู้ขอกู้ยืมและสถานศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง หากมีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินหรือสถานศึกษาดำเนินการผ่านระบบ e-Studentloan ก่อนการจัดพิมพ์
2. สัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ จะต้องจัดพิมพ์จากระบบ e-Studentloanของกองทุนอย่างละ 2 ฉบับ และต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเองเท่านั้น โดยลายมือชื่อผู้ให้กู้/ผู้มีอำนาจลงนามของสถานศึกษาต้องเหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนสถานศึกษาที่ส่งให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม(บมจ.ธนาคารกรุงไทย/ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย)
3. ให้สถานศึกษาตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ และเอกสารประกอบให้ถูกต้อง ครบถ้วน ทุกฉบับก่อนรวบรวมส่งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม โดยปฏิบัติดังนี้
3.1 ตรวจดูชื่อ/นามสกุลผู้กู้ยืมเงิน ตรงกับลายมือชื่อจริง
3.2 ตรวจดูการลงรายละเอียดในสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพให้ครบถ้วนถูกต้องทุกช่อง เช่น ชื่อผู้กู้ยืมเงิน ชื่อผู้ค้ำประกัน ฯลฯ
3.3 ตรวจเอกสารประกอบสัญญากู้ยืมเงินให้ครบถ้วน โดยให้ลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน แบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ เป็นแบบเดียวกับที่ลงลายมือชื่อในเอกสารประกอบต่างๆ
3.4 ตรวจสอบให้ผู้ให้กู้ยืม ผู้กู้ยืมเงิน ผู้ค้ำประกัน และคู่สมรสผู้ค้ำประกันลงนามในสัญญากู้ยืมเงินให้ครบทุกช่อง พร้อมทั้งลายมือชื่อของพยาน หากผู้กู้ยืมเงินอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมด้วย (ห้ามใช้ตรายางประทับแทนการลงลายมือชื่อ)
3.5 หากผู้ค้ำประกันไม่สามารถมาลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารสถานศึกษา ผู้กู้ยืมเงินสามารถนำหนังนสือนำจากมหาวิทยาลัยไปทำสัญญาที่ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านหรือภูมิลำเนาที่ประกอบอาชีพของผู้ค้ำประกัน โดยเจ้าพนักงานทะเบียนท้องที่หรือท้องถิ่น จะต้องลงลายมือชื่อรับรองการลงลายมือชื่อของผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมมาด้วย
การค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ดังนี้
1. บิดา มารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือคู่สมรส หรือ
2. บุคคลที่ประกอบอาชีพมีรายได้น่าเชื่อถือตามที่คณะกรรมการพิจารณาให้กู้ยืมประจำสถานศึกษากำหนดให้เป็นผู้ค้ำประกันได้
แนวปฏิบัติเรื่องการค้ำประกัน
1. กรณีที่นักเรียน/นักศึกษา ไม่มีบิดา มารดา ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ให้การยินยอมในการทำนิติกรรมสัญญาและเป็นผู้ค้ำประกัน “ผู้ปกครอง” ได้แก่ ผู้ปกครองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 กฎกระทรวง ระเบียบที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องผู้ปกครอง นักเรียน/นักศึกษา ซึ่งหมายถึง บุคคลซึ่งรับนักเรียน/นักศึกษาไว้ในความปกครอง หรืออุปการะเลี้ยงดู หรือบุคคลที่นักเรียน/นักศึกษาอาศัยอยู่
2. กรณีคู่สมรสของผู้ค้ำประกันไม่ยินยอมลงนามให้ความยินยอมค้ำประกัน ให้ผู้ค้ำประกันลงนามฝ่ายเดียวได้
3. กรณีคู่สมรสของผู้ค้ำประกันมอบอำนาจให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวแทน ให้ผู้ค้ำประกันลงนามฝ่ายเดียวได้
4. ผู้ค้ำประกันไม่สามารถเพิกถอนการค้ำประกันได้ ในระหว่างเวลาที่ผู้กู้ยืมเงิน ต้องรับผิดชอบอยู่ตามเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงิน
5. ในการทำสัญญากู้ยืมเงินแต่ละครั้ง ผู้กู้ยืมเงินอาจเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกันคนเดิม
แนวปฏิบัติเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ค้ำประกัน
1. กรณีที่ผู้กู้ยืมได้บันทึกรายละเอียดผู้ค้ำประกัน(ขั้นตอนที่ 4 ในระบบ e-Studentloan) แต่ยังมิได้มีการทำสัญญาหากผู้กู้ยืมประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขผู้ค้ำประกัน เพราะผู้ค้ำประกันคนเดิมไม่ได้ มีสัญชาติไทยก็ดี หรือเพราะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี กรณีนี้กองทุน เห็นว่า ควรอนุญาตให้ผู้กู้ยืมเปลี่ยนแปลงแก้ไขผู้ค้ำประกันในระบบ e-Studentloan ได้
2. กรณีที่ผู้กู้ยืมได้มีการทำสัญญาแล้วแต่อยู่ในขั้นตอนสถานศึกษาตรวจสัญญา (ขั้นตอนที่ 5 ในระบบ e-Studentloan) และผู้บริหารสถานศึกษายังมิได้ลงนามในฐานะผู้ให้กู้ยืม หากผู้กู้ยืมประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขผู้ค้ำประกัน เพราะผู้ค้ำประกันคนเดิมไม่ได้มีสัญชาติไทยก็ดี หรือเพราะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี กรณีนี้กองทุน เห็นว่า ควรอนุญาตให้ผู้กู้ยืมเปลี่ยนแปลงแก้ไขผู้ค้ำประกัน โดยการทำสัญญาฉบับใหม่ หรือใช้วิธีขีดฆ่าชื่อผู้ค้ำประกันเดิม และระบุชื่อผู้ค้ำประกันคนใหม่แล้วลงนามกำกับ และให้ผู้ค้ำประกันคนใหม่ลงชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย
3. กรณีที่ผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน และผู้ให้กู้ยืม(ผู้บริหารสถานศึกษา) ได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันแล้ว หากผู้กู้ยืมประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันเพราะผู้ค้ำประกันคนเดิมไม่ได้มีสัญชาติไทย เพราะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี กรณีนี้กองทุน ขอให้สถานศึกษาดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญา เพื่อให้ผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกันคนใหม่ และผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะผู้ให้กู้ยืม ลงนามในบันทึกข้อตกลง แล้วส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้ธนาคาร
4. กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินได้รับโอนเงินค่าเล่าเรียนแล้วไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลการค้ำประกันได้